วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ

สมุนไพร ที่เป็นยาแก้ไอและขับเสมหะมีมากมายหลายอย่าง อยู่ที่ใครนำไปใช้แล้วได้ผลดีก็ใช้สูตรนั้นแบบต่อเนื่องได้ แต่ละสูตรจะมีตัวยาและวิธีทำ หรือใช้ต่างกันไปตามลักษณะของยาที่ใช้เป็นส่วนประกอบ สำหรับมะแว้งเครือมีวิธีง่าย ๆ คือ เอาผลแก่เกือบสุกแบบสด 5-10 ผล โขลกพอแตกคั้นเอาเฉพาะน้ำใส่เกลือป่นเล็กน้อยจิบกินบ่อย ๆ จนน้ำหมดในแต่ละครั้งที่ทำ จะช่วยทำให้อาการไอหายและเสมหะน้อยลง ส่วนเมล็ดมะนาวให้เอาแบบสด ๆ ประมาณ 1 ขยุ้ม 10-20 เมล็ด นำไปคั่วไฟอ่อนจนสุกแล้วบด เป็นผงตักชงกับน้ำร้อนครั้งละนิดหน่อยดื่มบ่อยๆ หรือ เอาผงที่บดได้ทั้งหมดไปต้มกับน้ำประมาณ 3-4 แก้ว จนเดือด ดื่มเรื่อยๆ จะช่วยให้อาการไอหายและเสมหะน้อยลงเช่นเดียวกัน


มะแว้งเครือ หรือ SOLANUM TRILO-BATUM LINN. อยู่ในวงศ์ SOLANACEAE พบขึ้นตามป่าทั่วไป มีผลวางขายตามแผงพืชผักพื้นบ้านทั่วไป สรรพคุณทางยา ผลสดตำผสมเกลือเล็กน้อย อมหรือจิบแก้ไอแก้เจ็บคอ ขับเสมหะ ผลแห้งปรุงเป็นยาแก้ไอ ขับปัสสาวะ เจริญอาหาร แก้โรคเบาหวาน รากแก้ไข้สันนิบาต แก้น้ำลายเหนียว แก้ไอกัด และขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับลมมะนาว หรือ LIME–CITRUS AURANTIFOLIA SWING. อยู่ในวงศ์ RUTACEAE สรรพคุณเฉพาะ น้ำมะนาวและผลดองแห้งเป็นยาขับเสมหะแก้ไอ แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน มีวิตามินซีสูง




ที่มา : คอลัมน์ เกษตรกรบนแผ่นกระดาษ โดย นายเกษตร นสพ. ไทยรัฐ




ความรู้เรื่องอาการไอ



กลไกการเกิดอาการไอ
อาการไอเริ่มจากการที่มีสิ่งกระตุ้นตัวรับสัญญาณการไอหรือมีสารระคายเคืองในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง ได้แก่ ช่องหูและเยื่อบุแก้วหู,จมูก, โพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส, โพรงหลังจมูก, คอหอย, กล่องเสียง, หลอดลม, ปอด, กระบังลม และเยื่อหุ้มปอด นอกจากนี้ยังพบตัวรับสัญญาณการไอบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจและกระเพาะอาหารด้วย โดยจะรับการกระตุ้นผ่านไปทางเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 เป็นหลัก ไปยังศูนย์ควบคุมการไอ (cough center) ในสมองบริเวณเมดุลลา ซึ่งจะมีการควบคุมลงมายังกล้ามเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ เช่น กล้ามเนื้อกระบังลม, กล้ามเนื้อซี่โครง, กล้ามเนื้อท้อง กล่องเสียง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลอดลม ทำให้เกิดการตีบแคบของหลอดลม ทำให้เกิดอาการไอ
ชนิดของอาการไอ
ถ้าแบ่งตามระยะเวลาของอาการไอ แบ่งได้ 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
1. ไอฉับพลัน คือ มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด, โพรงไซนัสอักเสบฉับพลัน, คอหรือกล่องเสียงอักเสบ, หลอดลมอักเสบ, อาการกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง, ปอดอักเสบ, การที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม หรือสัมผัสกับสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันไฟ กลิ่นสเปรย์ แก๊ส และ มลพิษทางอากาศ
2. ไอเรื้อรัง คือ มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 สัปดาห์ ถึง 8 สัปดาห์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง, สัตว์กินยากลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitor (ACE-I) เป็นระยะเวลานาน, โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ, โรคหืด, โรคกรดไหลย้อน [gastroesophageal reflux (GERD)], การใช้เสียงมากทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง, เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม, โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ, โรควัณโรคปอด สัตว์ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง บางตัวอาจมีสาเหตุมากกว่าหนึ่งชนิด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ
ผลเสียของอาการไอ
การที่ไอมากๆ อาจทำให้เป็นที่รำคาญของท่านผู้ฟังหรือรบกวนเพื่อนบ้าน และยังอาจแพร่เชื้อให้ท่านผู้ฟังหรือสัตว์ตัวอื่นๆได้ครับ นอกจากนั้นอาจรบกวนการกินอาหารหรือรบกวนการนอนหลับ ในกรณีที่สัตว์ป่วยอายุมาก การไอมากๆ อาจทำให้กระดูกอ่อนซี่โครงหักได้ (rib fracture) หรือทำให้ถุงลมหรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตก ออกสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax or hemothorax) เกิดอาการหอบเหนื่อยและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้มีผลเสียต่อการผ่าตัดตา และหู เช่น การผ่าตัดต้อกระจก การไอ อาจทำให้เลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่ไปในลูกตาหลุดออกได้
การวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของการไอ
คุณหมอจะเริ่มจากการซักประวัติ การตรวจร่างกายสัตว์ป่วยโดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมเช่น ส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของโพรงไซนัสและปอด, การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินหายใจ, การตรวจเสมหะ, การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด
การรักษาอาการไอ
การรักษาที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุของอาการไอและรักษาตามสาเหตุ ถ้าสัตว์ป่วยไอจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนหรือล่าง เช่น หวัด หรือหลอดลมอักเสบ และมีอาการไอไม่มากนักอาจให้การรักษาเบื้องต้น เช่น ยาบรรเทาอาการไอไปก่อนได้ กรณีที่ไอมีเสมหะ เสมหะที่เหนียวข้นมาก จะถูกขับออกจากหลอดลมได้ยากโดยการไอ การให้ยาละลายเสมหะจะช่วยให้เสมหะถูกขับออกได้ง่ายขึ้นและบรรเทาอาการไอได้ แต่หากสัตว์ป่วยได้รับยาดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ หากมีอาการของการติดเชื้อแบคทีเรียเช่น เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว คุณหมออาจให้ยาต้านจุลชีพร่วมด้วย การที่สัตว์ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ครับ
การปฏิบัติต่อสัตว์ป่วยที่มีอาการไอ
ท่านผู้ฟังควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้สัตว์ของท่านผู้ฟังไอมากขึ้นครับ เช่น สารเคมี ควันบุหรี่ ฝุ่น มลพิษทางอากาศ สารก่ออาการระคายเคือง อากาศเย็นๆ โดยเฉพาะแอร์หรือพัดลมเป่า การดื่มหรืออาบน้ำเย็น การรับประทานไอศกรีม หรืออาหารที่ระคายคอ เช่น อาหารที่ทอดด้วยน้ำมัน ถ้าต้องการเปิดเครื่องปรับอากาศ ควรตั้งอุณหภูมิให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียสเพื่อไม่ให้อากาศเย็นจนเกินไป ในกรณีที่ใช้พัดลม ไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไปมา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง เนื่องจากอากาศที่เย็นสามารถกระตุ้นหลอดลมทำให้หลอดลมหดตัวทำให้สัตว์มีอาการไอมากขึ้นได้ ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายสัตว์ให้เพียงพอขณะนอน เช่น นอนในบริเวณที่มีสิ่งรองนอน ตั้งน้ำให้สัตว์ดื่มน้ำมากๆ ควรดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงให้สมบูรณ์แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้ ให้สัตว์ได้ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวันหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ หลีกเลี่ยงทำให้สัตว์เลี้ยงมีความเครียดและการสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ พยายามให้สัตว์เลี้ยงอยู่ห่างจากสัตว์ป่วยที่มีอาการไอ หรือไม่สบายทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน เนื่องจากอาจรับเชื้อโรคจากสัตว์ดังกล่าวได้ครับ
ยาบรรเทาอาการไอ…..มีอะไรบ้าง
ยาบรรเทาอาการไอ แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ
1. ยาลดหรือระงับอาการไอ (cough suppressants or antitussives) อาจออกฤทธิ์ที่จุดรับสัญญาณการไอส่วนปลาย หรือออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางของสมองที่ควบคุมอาการไอ ยาชนิดนี้ควรเลือกใช้ในสัตว์ป่วยที่ไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ (non-productive cough)
2. ยาขับเสมหะ (expectorants) ยาชนิดนี้จะกระตุ้นการขับเสมหะโดยกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจในการกำจัดเสมหะ และเพิ่มปริมาณสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปริมาณเสมหะมากขึ้น ทำให้ไอเอาเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้นเช่น potassium guaiacolsulphonate, terpin hydrate, ammonium chloride, glyceryl guaiacolate ยาชนิดนี้ควรเลือกใช้ในสัตว์ป่วยที่ไอแบบมีเสมหะ (productive cough)
3. ยาละลายเสมหะ (mucolytics) ยาชนิดนี้จะช่วยลดความเหนียวของเสมหะลงทำให้ร่างกายกำจัดหรือขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น เช่น ambroxol hydrochloride, bromhexine, carbocysteine ยาชนิดนี้ควรเลือกใช้ในสัตว์ป่วยที่ไอแบบมีเสมหะ บางครั้งนิยมใช้ร่วมกับยาขับเสมหะ
จะเห็นได้ว่าอาการไอ อาจเกิดจากโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง เช่น หวัด, คอหรือหลอดลมอักเสบ หรือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคที่ร้ายแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ, เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม หากสัตว์ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากสัตว์ป่วยได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไอไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอ



การไอ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติของร่างกาย ที่สั่งการผ่านศูนย์ควบคุมการไอในสมอง เมื่อมีสิ่งระคายเคืองไปกระตุ้นจุดรับสัญญาณไอ ซึ่งมีอยู่ 3 แห่งในร่างกาย ได้แก่ จมูก ลำคอ และทรวงอก การไอแบบมีเสมหะ เป็นกลไกของร่างกายที่พยายามกำจัดของเสียหรือสิ่งแปลกปลอมที่สร้างความระคายเคือง ซึ่งก็คือเสมหะ ให้ออกไปจากหลอดลม ส่วนการไอแห้งๆ เป็นอาการไอที่เกิดจากหลอมลมมีการอักเสบหรือระคายเคือง จึงกระตุ้นให้เกิดอาการไอโดยที่ไม่มีเสมหะ



สาเหตุของการไอ มีหลายประการ ได้แก่



1. สิ่งแวดล้อมและสารก่อความระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป ละอองสารเคมีในอากาศ


2. การสำลักหรืออุดกั้นทางเดินหลอดลม เช่น เสมหะในหลอดลม น้ำมูกที่ไหลลงหลอดลม อาหารหรือน้ำย่อยที่ไหลย้อนจากกระเพาะอาหารไปสู่หลอดลม


3. การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด หลอดลมอักเสบ โพรงไซนัสอักเสบ เป็นต้น บางครั้งการติดเชื้อหายแล้ว แต่อาการไอยังคงอยู่


4. โรคบางชนิด เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด ปวดบวม วัณโรค ไอกรน


5. อาการข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคความดันสูงบางกลุ่ม ยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก เป็นต้นนอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการไอ แต่พบไม่บ่อย เช่น การสำลักสิ่งแปลกปลอมในหลอดลม โรคเนื้องอกในหลอดลม และพยาธิบางชนิด เป็นต้น



ลักษณะของการไอ บางครั้งก็ช่วยบอกสาเหตุได้ เช่น


1. ไอกลางคืนมากกว่ากลางวัน มักจะเป็นการติดเชื้อในทางเดินหายใจ เนื่องจากจะมีน้ำมูกไหลลงคอ ทำให้ระคายเคือง และกระตุ้นให้เกิดอาการไอขึ้น


2. ไอแบบแน่นหน้าอก พบในผู้ป่วยโรคหอบหืด มักจะมีเสียงหายใจผิดปกติ เช่น เสียงวี้ดๆ ด้วย


3. ไอแบบมีเสมหะ ลักษณะของเสมหะจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ เช่น ถ้าเสมหะเป็นหนองมาก หรือมีสีเหลืองเขียว มักจะมีการติดเชื้อ ถ้าเสมหะเป็นสีขาว มักเป็นอาการไอจากภูมิแพ้หรือหอบหืด


การป้องกันและบำบัดอาการไอ


1.การรักษาด้วยตัวเอง ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง จะช่วยบรรเทาอาการลงได้ เช่น


- หลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องที่มีอากาศร้อนหรือเย็นเกินไป


- นอนยกศีรษะสูงขึ้นประมาณ 6-8 นิ้ว เพื่อป้องกันน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดลม


- งดสูบบุหรี่


- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีการจราจรคับคั่ง หรือมลพิษทางอากาศ


- งดน้ำแข็งหรือน้ำเย็น แล้วหันมาดื่มน้ำอุ่น


- งดของทอด ของมัน



2. การรักษาด้วยยา


เนื่องจากการไอเป็นอาการแสดงของโรคหลายโรคมาก คงไม่มีตัวยาตัวใดตัวหนึ่ง ที่จะเหมาะสมกับการไอทุกประเภท การเลือกใช้ยาแก้ไอให้เหมาะกับโรค จึงเป็นสิ่งสำคัญ


ยาแก้ไอประเภทต่างๆ ได้แก่


- กลุ่มยาละลายเสมหะ ช่วยให้เสมหะใสขึ้นและขับออกได้ง่ายขึ้น ยากลุ่มนี้เหมาะสำหรับการไอแบบมีเสมหะ นอกจากนี้ การดื่มน้ำมากๆ ก็ช่วยละลายเสมหะได้เช่นกัน


- กลุ่มยาขับเสมหะ มักใช้ผสมอยู่ในยาแก้ไอชนิดอื่นๆ ออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งสารน้ำในทางเดินหายใจ ทำให้ความหนืดของเสมหะลดลง และถูกขับออกไปได้ง่ายขึ้น แต่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องและอาเจียนได้


- กลุ่มยาระงับหรือกดอาการไอ ออกฤทธิ์โดยกดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง ทำให้หยุดไอหรือไอน้อยลง แต่ไม่ช่วยในการรักษาโรค ยาในกลุ่มนี้บางตัวจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังผู้ป่วยที่ไอแบบมีเสมหะ ไม่ควรใช้ยาประเภทนี้ เพราะถึงแม้จะทำให้ไอน้อยลง แต่เสมหะที่คั่งค้างมากขึ้นในหลอดลม อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นโรคปอดอักเสบได้ ถ้ามีอาการไอแห้งๆ ที่รุนแรงหรือไอถี่มาก อาจใช้ยาระงับอาการไอ เพื่อลดอาการไอลงบางส่วน แต่ไม่ควรใช้ยาจนกระทั่งยับยั้งอาการไอทั้งหมด เพราะอาจจะกลายเป็นการปกปิดอาการที่แท้จริงไว้ และทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นได้


- กลุ่มยาขยายหลอดลม ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว ใช้ในกรณีที่การไอทำให้หายใจเข้าได้ลำบาก หรือการไอจากภาวะหลอดลมหดตัวจากการเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไอจากหอบหืด แต่จะไม่มีประโยชน์ถ้าผู้ป่วยเป็นหวัด แล้วไอเพราะน้ำมูกไหลลงคอ ยาขยายหลอดลมบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง


- กลุ่มยาแก้แพ้ ออกฤทธิ์โดยทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง ใช้รักษาอาการไอที่มีสาเหตุมาจากน้ำมูกไหลลงหลอดลม


ควรปรึกษาแพทย์เมื่อ


- มีไข้ 38.9 องศาเซลเซียสขึ้นไป


- เสมหะมีเลือดปน สีน้ำตาลหรือเขียว


- มีอาการหอบหืด


- หายใจลำบาก


- เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง


- ไอติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น